top of page

ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเพื่อพัฒนาจังหวัดด้วย อววน เพื่อโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล

ดร.อเนก.jpg

“ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.อว. เปิดโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จ้างงาน 6 หมื่นคน เผยรัฐบาลห่วงปัญหาการว่างงานมากกว่าการชุมนุมทางการเมืองของเยาวชน ชี้ 1 ปีของการจ้างงานต้องทำให้เหมือนอยู่ใน “ตักสิลา” ของความรู้ คู่การปฏิบัติ พร้อมต้องเปลี่ยนทัศนคติให้มองประเทศไทยในเชิงบวกเห็นโอกาสและทางรอดของประเทศ

รมว.อว. กล่าวว่า ปัญหาการว่างงานสำคัญมากสำหรับประเทศ และนิสิตนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำถือเป็นเรื่องใหญ่ นี่คือปัญหาที่รัฐบาลห่วงใยมากกว่าปัญหาที่นิสิตนักศึกษาออกมาชุมนุมทางการเมือง รัฐบาลได้จัดสรรเงินมาช่วยแก้การว่างงานของนิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมทั้งจะพัฒนาทักษะใน 4 ด้าน ได้แก่ ดิจิทัล การเงิน สังคมและภาษาอังกฤษ ควบคู่ไปกับทักษะเฉพาะด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในพื้นที่

“แต่สิ่งที่ ผมอยากจะฝากคือ ในช่วงเวลา 1 ปี นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชน จำนวน 6 หมื่นคน มาทำงานกับ อว.คือ จะทำอย่างไรให้พวกเขาเหล่านั้นมองเห็นประเทศไทยในเชิงบวก ไม่มองแต่เชิงลบ แน่นอนปัญหาต่างๆของประเทศมีอยู่ ไม่ปฎิเสธแต่ก็ต้องมองปัญหาที่มีอยู่เพื่อแก้ไขในทางที่สร้างสรรค์และก็ต้องมองปัญหาในเชิงบวกด้วย ประเทศถึงจะเดินหน้าได้” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนกฯ กล่าวและขยายความว่า สรุปแล้วโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย มีเป้าหมาย คือ 1. แก้ปัญหาการว่างงาน แก้ปัญหาความยากจนของชุมชนเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง ยั่งยืน 2. ฝึกเด็กให้เป็นนักสำรวจวิจัยเพื่อทำความเข้าใจ ในการทำข้อมูลชุมชนหรือ Bigdata เพื่อนำไปสู่การพัฒนารายพื้นที่ 3. ให้นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชน 6 หมื่นคนมีสำนึกของการปฎิบัติให้มาก ได้เรียนรู้จากการปฎิบัติ เพลิดเพลินกับการปฎิบัติโดยมีทฤษฎีจาก 76 มหาวิทยาลัยที่จะลงไปร่วมทำงานกับคน 6 หมื่นคน ผสมผสาน โดยต้องทำให้ 1 ปีของโครงการนี้เหมือนเยาวชนได้เข้าไปอยู่ในตักสิลาแห่งความรู้ของประเทศ.

โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)
มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ

 ตามที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนว่างงานและบัณฑิตจบใหม่ไม่สามารถหางานทำได้ รวมถึงนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประชาชนที่ว่างงานย้ายกลับถิ่นฐานจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา นโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คาดได้ว่าจะมีโครงการภายใต้ “พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ในภาครัฐจำนวนมากที่จะลงไปพื้นที่หรือชุมชน อาทิเช่น โครงการด้านการเกษตรสมัยใหม่ ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP การท่องเที่ยวชุมชน การส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ในพื้นที่ ซึ่งโครงการ

ต่างๆเหล่านี้หากไม่บูรณาการกันอย่างเป็นระบบ จะส่งผลให้ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ เกิดการซ้ำซ้อนของโครงการ การใช้จ่ายงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สามารถสร้างผลกระทบ (Impact) ได้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้เกิดการบูรณาการโครงการในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง ควรมีหน่วยงานในพื้นที่ที่ทำหน้าที่ในการบูรณาการกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based System Integrator) ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐกว่า 80 แห่งที่

กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ สามารถที่จะทำหน้าที่เป็น System Integrator ในระดับตำบลได้ โดยที่มหาวิทยาลัยในพื้นที่สามารถใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่ ทำงานประสานและร่วมงานกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การทำงานบูรณาการนี้ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลที่สามารถนำไปสู่การลดความยากจนอย่างมีเป้าหมายชัดเจน (Targeted Poverty Alleviation) ในการดำเนินการของมหาวิทยาลัยในพื้นที่จะประกอบด้วยองค์ประกอบหลักๆดังนี้

1. มหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่หน่วยงานบูรณาการโครงการ (System Integrator) รายตำบล โดยใน 1 ตำบล จะมี 1 มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ดูแล
2. มหาวิทยาลัยดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน อาทิเช่น การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ (การยกระดับสินค้า OTOP/อาชีพอื่นๆ) การสร้างและพัฒนา Creative Economy (การยกระดับการท่องเที่ยว) การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care/เทคโนโลยีด้านต่างๆ) และการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy (การเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน) ตามรูปแบบกิจกรรมที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
3. มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยจ้างงานในการดำเนินโครงการของหน่วยงานต่างๆ ในตำบลที่ทำหน้าที่ดูแล โดยจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ไม่น้อยกว่า 20 คนในแต่ละตำบล
4. มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ประสานงานและทำงานร่วมกับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการโครงการภายในพื้นที่
5. มหาวิทยาลัยทำหน้าที่บูรณาการและสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ที่ไปดำเนินการโครงการภายในตำบล ในด้านองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
6. มหาวิทยาลัยจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนรายตำบล (Community Big Data) เพื่อให้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน

นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการบูรณาการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีการจัดทำระบบการบูรณาการโครงการต่างๆ ในอีก 2 ระดับคือ ระดับภูมิภาค (Regional System Integrator) และระดับประเทศ (National System Integrator)

        ระดับภูมิภาค (Regional System Integrator) โดยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 9 ภูมิภาค ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ เครือข่ายภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง จะทำหน้าที่ในการบูรณาการโครงการต่างๆระหว่างชุมชนหรือตำบลในพื้นที่ (Regional System Integrator) ทั้งด้านการใช้ทรัพยากรโครงการร่วมกัน การแบ่งปันองค์ความรู้และเทคโนโลยีร่วมกัน รวมถึงการเชื่อมต่อกันในโซ่คุณค่า (Value Chain) ของสินค้าและบริการ เช่นการผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การบริโภคสินค้าและบริการ การท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่ เป็นต้น และใน

        ระดับประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เป็น National System Integrator เพื่อทำหน้าที่บูรณาการโครงการและข้อมูลต่างๆในภาพรวม การประเมินผลกระทบ และ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน เพื่อใช้ในการจัดทำนโยบายและกลยุทธ์ในการลดปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน (Targeted Poverty Alleviation)

          การดำเนินการบูรณาการต่างๆเป็นไปดังแผนภาพ โดยในโครงสร้างการดำเนินการนี้จะเป็นโครงสร้างที่จะต่อเนื่องถึงแม้จะสิ้นสุดโครงการตาม พ.ร.ก. เงินกู้แล้วก็ตาม เนื่องจากว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีนโยบายในการส่งเสริมและปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ชุมชนท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ โครงการนี้จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (Area Based University)

วัตถุประสงค์
     1. เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็น System Integrator
     2. เพื่อให้เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน
     3. เพื่อให้เกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชน ได้แก่ การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ (การยกระดับสินค้า OTOP/อาชีพอื่นๆ) การสร้างและพัฒนา Creative Economy (การยกระดับการท่องเที่ยว) การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care/เทคโนโลยีด้านต่างๆ) และการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy (การเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน)
     4. เพื่อให้เกิดการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน

ปีงบประมาณที่เริ่มต้นโครงการ 2564
วันที่เริ่มต้นโครงการ 1 มกราคม 2564
วันที่สิ้นสุดโครงการ 31 ธันวาคม 2564

ที่มา :

bottom of page